หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2567
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7


ชื่อ : นายคนอง ปะทิ
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำตำบล
ที่อยู่ : ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับจังหวัด ปี 2566 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
2. รองชนะเลิศ ลำดับที่ 2 การคัดเลือกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนระดับจังหวัด ปี 2566 เกษตรจังหวัดน่าน

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายคนอง ปะทิ หมอดินอาสาประจำตำบล ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน อายุ 68 ปี พื้นที่ทำการเกษตร 11 ไร่ แบ่งพื้นที่ทำนาอินทรีย์ จำนวน 9 ไร่ สระน้ำ 1 ไร่ พื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน 1 ไร่ ซึ่งมีการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น เลี้ยงไก่ และเลี้ยงเป็ด ข้อมูลดินในพื้นที่ทำการเกษตร ดินเป็นกลุ่มชุดดิน 29 ชุดดินแม่แตง ความลาดชันของพื้นที่ 5 – 15 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาดินสำหรับการปลูกพืช ดินเป็นกรดจัด ธาตุอาหารในดินต่ำ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 4.5 ฟอสฟอรัส 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โพแทสเซียม 8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำ จึงทำให้ผลผลิตพืชต่ำ รวมทั้งมีการทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีปริมาณมาก ทำให้สุขภาพไม่ดี จึงได้มีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี โดยการแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน internet YouTube และ Facebook ดังนั้นในปี 2557 จึงอาสาสมัครเข้ามาเป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน และได้รับความไว้วางใจให้เป็นนหมอดินประจำตำบลในเวลาต่อมา
           การจัดการดินในการทำการเกษตร ได้นำเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ไถกลบตอซัง น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สารควบคุมแมงศัตรูพืชจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 โดโลไมต์ และปอเทือง โดยมีการปฏิบัติ ดังนี้ การไถกลบตอซังและหญ้าหลังเก็บเกี่ยวข้าว ไถกลบรอบแรกทิ้งไว้ระยะหนึ่งหากมีหญ้าขึ้นให้ไถกลบซ้ำ เป็นการกำจัดวัชพืชและเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ถ้าบริเวณใดที่สังเกตเห็นว่าข้าวเจริญเติบโตไม่ดีให้ใส่แกลบเพิ่มลงไปแล้วไถกลบ รวมทั้งปลูกปอเทืองเป็น
          ปุ๋ยพืชสดหลังเก็บเกี่ยวข้าว การใช้โดโลไมท์ปรับปรุงดินกรดก่อนการปลูกข้าว ใส่ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากรำหยาบ 60 กิโลกรัม มูลวัว 30 กิโลกรัม ขี้หนอนนก 10 กิโลกรัม กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม และสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 จำนวน 1 ซอง หมักทิ้งไว้ 25 วัน จะมีกลิ่นหอม ใส่หลังจากปลูกข้าว 35 วัน ใส่เฉพาะบริเวณที่ข้าวไม่งาม การฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากกล้วย มะละกอ ฟักทอง อย่างละ 10 กิโลกรัม กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม น้ำ 40 ลิตร สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 จำนวน 1 ซอง หมักทิ้งไว้ 25 วัน นำมาใช้ในอัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร ต่อ น้ำ 200 ลิตรโดยเทลงในแปลงนา 3 ครั้ง ได้แก่ ข้าวอายุ 35 วัน 41 วัน และ 56 วัน
           หลังจากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทำให้ดินร่วนซุย ค่าความเป็นกรดเป็นด่างเพิ่มขึ้น มีค่า 6.5 ธาตุอาหารเพิ่มขึ้น ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โพแทสเซียม 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รวมทั้งได้ผลผลิตข้าว 800 - 1000 กิโลกรัมต่อไร่ และต้นทุนการผลิตลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ มีต้นทุน 1,000 - 2,000 บาทต่อไร่ ซึ่ง จากผลสำเร็จนี้จึงได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรที่เข้ามาอบรม เช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์ นักศึกษา และหน่วยงานต่างๆ