หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2567
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6


ชื่อ : นางดวงดาว กูริโอโส ไนอาเร็ตตี้
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นางดวงดาว กูริโอโส ไนอาเร็ตตี้ หมอดินอาสาประจำตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง สถานีพัฒนาที่ดินลำปาง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 มีผลงานโดดเด่นด้านการทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ นาข้าว พืชผสมผสาน ได้แก่ ผักพื้นบ้าน ไม้ผล ไม้ยืนต้น ปศุสัตว์ ได้แก่ วัว ไก่ไข่ เป็ดไข่ และห่าน มีการขุดสระน้ำเพื่อเลี้ยงปลานิล มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา โมเดล ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบและในระยะเวลาอย่างรวดเร็ว มีพื้นที่เป็นของตนเอง จำนวน 15 ไร่ อยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 56 ชุดดินผาลาด (Palad series: Pl) เป็นดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีความลาดชันของพื้นที่ 1 - 5 % สภาพพื้นที่จากเดิมเป็นป่ารกไม่ได้รับการดูแล ขาดการปรับปรุง สมัครเป็นหมอดินอาสาในปี 2563 และได้นำความรู้จากการฝึกอบรมไปปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินมีค่าความเป็นกรดด่างดีขึ้น ผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้ปรับปรุงดิน และได้รับคำแนะนำในการใช้พืชปุ๋ยสดในการปรับปรุงดิน นำเศษผักผลไม้ที่มีอยู่ในแปลงเกษตรมาผลิตน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 และผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืชจากสารเร่ง ซุปเปอร์ พด. 7
           ปัญหาในการทำการเกษตร คือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำได้รับการคัดเลือกจาก สถานีพัฒนาที่ดินลำปางเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการ โคก หนอง นา โมเดล ทำให้สามารถจัดสรรพื้นที่ สามารถวางแผนระบบการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีระบบมากขึ้น นอกจากนี้ในแปลงเกษตรยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาช่วยในการบริหารจัดการเรื่องการให้น้ำได้อย่างมีระบบเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุ้มค่า
           หมอดินดวงดาวเป็นหมอดินอาสาที่ได้ทำการเกษตรอยู่แล้วแต่ได้นำองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ด้านการพัฒนาที่ดินมาใช้ปรับปรุงที่ดินตนเองจนดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นและได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบลหัวเสือ จึงมีการสร้างจุดเรียนรู้การผลิตปุ๋ยปมัก พด. จุดเรียนรู้การผลิตน้ำหมักชีวภาพ จุดเรียนรู้ด้านการผลิตและการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ แนวทางบริหารจัดการดินมีการใช้หญ้าแฝกปลูกและตัดใบเพื่อคลุมดินรักาความชุ่มชื้นในดิน ปลูกแฝกตามแนวขอบสระเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ชะลอการไหลของน้ำ การไม่เผาตอซังและฟางข้าวปล่อยทิ้งไว้ในแปลงนาเพื่อให้ย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชและเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์
           มีการผลิตถ่านไบโอชาร์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เปลือกผลไม้ แกลบ ชานอ้อย ซังข้าวโพด เพื่อการปรับปรุงดิน ถ่านผลไม้ใช้ดับกลิ่น มีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูปเป็นอาหารสุขภาพ เช่น ข้าวขาวเป็นข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ การแปรรูปพืชสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรโดยทำเป็นลูกประคบ ยาอม ตะไคร้หอมไล่ยุง ถุงหอม น้ำมันรำข้าวเก้าพลัง การแช่เท้าด้วยสมุนไพร การอบตัวด้วยสมุนไพร
           ผลสำเร็จด้านการสร้างเครือข่ายและสร้างช่องทางการตลาดสมัยใหม่มีการโฆษณาผ่าน Facebook และ line พัฒนาการเกษตรต่อยอดให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรมีการสร้างทางสะพานไม้ไผ่แบบขัวแตะขึ้นบริเวณทุ่งนาและปลูกไม้ดอกประดับเพื่อความสวยงามดึงดูดให้มีการเข้ามาใช้พื้นที่และเยี่ยมชมศูนย์ พร้อมมุ่งพัฒนาสินค้าให้เข้าสู่กระบวนการรับรองในระบบเกษตรอินทรีย์ นำไปสู่เกษตรเชิงท่องเที่ยวและสร้างเป็นจุดเรียนรู้การพัฒนาที่ดิน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กำไรจากนาข้าว ไม้ผล พืชผัก ปศุสัตว์และประมง รวม 331,000 บาท/ปี