หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2567
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5


ชื่อ : นายคมสัน โคตรสีทา
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. ได้รับการคัดเลือกเป็นปราชญ์เกษตร ระดับจังหวัดอุดรธานี สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566 ปี 2566 จังหวัดอุดรธานี
2. รางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ การประกวดปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri – Map) ประจำปี 2565 ปี 2565 กรมพัฒนาที่ดิน
3. รางวัลชมเชย การประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2563 – 2565 ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผลพัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมและดินมีปัญหา : ระดับบุคคล ปี 2565 มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายคมสัน โคตรสีทา หมอดินอาสาประจำตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี สถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 มีผลงานโดดเด่นด้านการทำเกษตรผสมผสาน นาข้าว ไม้ผล หญ้าเลี้ยงสัตว์และการปลูกไม้ป่ายืนต้นเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตขายและลดโลกร้อน มีพื้นที่เป็นของตนเอง จำนวน 35 ไร่ อยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 25 ชุดดินเพ็ญ (Phen series : Pn) เป็นดินตื้นถึงชั้นลูกรัง ดินบนเป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลปนเทามีจุดประสีน้ำตาลแก่ สีน้ำตาลปนเหลืองส่วนดินล่างภายใน 50 เซนติเมตร มักเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย ปนกรวดมากในดินล่างตอนบนและเป็นดินเหนียวในดินล่าง การระบายน้ำเลว การไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้า การซึมผ่านได้ของน้ำปานกลางในดินบน และช้าในดินล่าง
           ปัญหาในการทำการเกษตร คือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำได้รับการคัดเลือกจาก สถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานีให้เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกในกิจกรรมปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวในปี 2562 ตามเงื่อนไขพบ่าพื้นที่ไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวควรมีการปรับเปลี่ยนจึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกแบบระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแก้ไขปัญหาดินลูกรังตามองค์ความรู้ของกรมพัฒนาที่ดิน การแปรรูปผลผลิตการเกษตรตามคำแนะนำของเกษตรอำเภอและการเลี้ยงปลาตามคำแนะนำของกรมประมง รวมถึงการปลูกหม่อนผลสดตามคำแนะนำของกรมหม่อนไหม การปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจของกรมป่าไม้และการปลูกพืชในโรงเรือนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผสมผสานบ้านโนนสร้างคำ ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
           แนวทางบริหารจัดการดินมีการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกและตัดใบเพื่อห่มดิน คลุมดินใต้ต้นไม้ผลและปลูกรอบโคนต้นไม้ผลเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน ปลูกแฝกตามแนวขอบบ่อเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน
           มีสูตรดินหมักสำหรับใช้ในการปลูกเมล่อน องุ่น มะเขือเทศเชอรี่ ผสมเองจากวัสดุเหลือใช้ในฟาร์มจาก หน้าดิน แกลบดำ แกลบดิบ ปุ๋ยหมัก สัดส่วน 1:1:1:1 หมักทิ้งไว้ 1 เดือนจึงนำไปใช้ได้ โดยวิธีใช้นำไปผสมกับโดโลไมท์อัตรา 50 กก ต่อตัน ใส่หินฟอสเฟต 2 กก ต่อตัน และใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 แล้วบรรจุลงถุงปลูก พักดินในโรงเรือน 15-20 วัน ดินหมักที่ผ่านการปลูกเมล่อน นำมาเป็นหน้าดินสำหรับผสมดินหมักเพื่อปลูกมะเขือเทศได้
           ด้วยเป็นพื้นที่ขาดน้ำจึงได้มีการบริหารจัดการน้ำใช้โดยการขุดบ่อน้ำประจำไร่นานอกเขตชลประทาน และการปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 2 ทำให้มีระบบส่งน้ำคลอบคลุมพื้นที่ 20 ไร่ และขุดบ่อบาดาล 1 บ่อที่สูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พักน้ำในโอ่งใหญ่และดึงน้ำขึ้นสู่ถังสูง ขนาด 2,500 ลิตร เพื่อปล่อยน้ำรดทั่วแปลง ในร่องน้ำมีการเลี้ยงปลา การบริหารจัดการพืชผสมผสานแบ่งพื้นที่ปลูก ข้าว ไม้ผล หญ้ารูซี่สำหรับเลี้ยงสัตว์และไม้ป่าเศรษฐกิจที่มีสมุนไพรแซม
           ผลสำเร็จด้านการสร้างเครือข่าย “คิดใหญ่ ก้าวเล็ก เปลี่ยนชีวิตคนลูกรัง นำไปสู่เกษตรเชิงท่องเที่ยวและสร้างเป็นจุดเรียนรู้การพัฒนาที่ดินมีผู้มาศึกษางานปีละมากกว่า 300 ราย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กำไรจากนาข้าว ไม้ผล พืชผัก ปศุสัตว์และประมง รวม 90,200 บาท/ปี