เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2567
ชนะเลิศหมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2567
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4


ชื่อ : นายสนิท ดำบรรณ์
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำตำบล
ที่อยู่ : ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. ประกาศนียบัตรพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ประเมินให้เป็น Young Smart Famer ปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตร
2. รางวัลเชิดชูเกียรติหมอดินอาสาดีเด่นผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาที่ดิน ปี 2565 สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 กรมพัฒนาที่ดิน
3. การดำเนินงานโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ดีเด่น ปี 2562 กรมพัฒนาที่ดิน

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายสนิท ดำบรรณ์ พื้นที่ทำการเกษตร 72 ไร่ มีผลงานจากการทำเกษตรเชิงผสมผสาน ได้นำองค์ความรู้เทคโนโลยีการจัดการดิน และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น Agri – Map, น้องดินดี (AI Chatbot) มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตน อีกทั้งมีการขุดสระกักเก็บน้ำ จำนวน 5 ไร่ ควบคู่กับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
           พื้นที่ประกอบด้วยหน่วยแผนที่ 2 หน่วย คือ 1.กลุ่มชุดดินที่ 37 ชุดดินเขมาราฐ (Kmr) คิดเป็นร้อยละ 75.00 ของพื้นที่ทั้งหมด ถือเป็นส่วนใหญ่ของแปลงการเกษตร 2. กลุ่มชุดดินที่ 17 ชุดดินบุณฑริก (Bt) ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่คือเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรแบบผสมผสานแทน โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์พด.1 ร่วมกับการปลูกปอเทือง เพื่อปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน และมีการใส่ปูนโดโลไมท์ ลดความเป็นกรดของดิน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 และสารควบคุมแมลงศัตรูพืช พด.7 แทนการใช้สารเคมี อีกทั้งมีการขุดบ่อน้ำที่เรียกว่า บ่อพอเพียง และได้รับการสนับสนุนขุดสระน้ำในไร่นาเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยปลูกหญ้าแฝกรอบขอบสระเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ได้รับการสนับสนุนสร้างถังเก็บน้ำควบคุมด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ นำเทคโนโลยี Application น้องดินดี (AI Chatbot) , Agri-Map ของกรมพัฒนาที่ดินมาประกอบการแบ่งสัดส่วนตามสภาพพื้นที่เพื่อสามารถบริหารจัดการได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้นายสนิท ได้คิดสูตรปุ๋ยหมัก 4 สูตร ได้แก่ ใบหญ้าแฝก ฟางข้าว ผักตบชวา กากมันสำปะหลัง น้ำหมักชีวภาพ 5 สูตร ได้แก่ หอยเชอรี่ ปลา ผลไม้ รกหมู และฮอร์โมนไข่ ที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด
           ด้านการตลาด ในปี พ.ศ. 2564 ได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจศูนย์เพาะชำกล้าไม้เศรษฐกิจเขมาราฐธานี เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ผลิตกล้าไม้ป่า จัดจำหน่ายกล้าพันธุ์ แปรรูปสินค้าที่ผลิตตามฤดูกาล แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีขาย โดยการประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ รายได้ ปี 2566 จากภาคการเกษตร เช่น ข้าว 121,000 บาท ผลิตกล้าไม้ป่า 25,000 ต้น มีรายได้ 367,900 บาท รายได้นอกภาคการเกษตร เช่น ค่าตอบแทนจากบริษัทยินดี (Carbon Credit) 120,000 บาท เงินปันผลจากกลุ่มวิสาหกิจฯ 100,000 บาท หลังจากหักต้นทุนได้กำไรสุทธิ 485,900 บาท
           ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของนายสนิท ดำบรรณ์ จัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนผู้สนใจ นายสนิทมีความเป็นผู้นำและเสียสละต่อส่วนรวม เป็นผู้นำชุมชนที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติหมอดินอาสาดีเด่นผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาที่ดิน เนื่องในวันดินโลก ประจำปี 2565 ณ สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี และรางวัลประกวดผลการดำเนินงาน โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานดีเด่น ประจำปี 2562