รองชนะเลิศอันดับ 1 หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2567
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12


ชื่อ : นายดีน หะยีมะแซ
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำตำบล
ที่อยู่ : ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. ต้นแบบบัตรดินดีพลิกดินฟื้นฟูผืนดิน ปี 2565 กรมพัฒนาที่ดิน
2. รางวัล เชิดชูเกียรติ “ผู้บำเพ็ญกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม” ปี 2565 สถานีพัฒนาที่ดินปัตตานี

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายดีน หะยีมะแซ สมัครเป็นหมอดินอาสาปี 2563 พื้นที่ทำการเกษตร 4 ไร่ มีผลงานเด่นด้านการจัดการดินทราย และการปลูกผักบนแคร่ แบ่งพื้นที่ทางการเกษตร เป็นผักกางมุ้ง ผักยกแคร่ ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักสลัด ผักกาด พืชหมุนเวียนระหว่างร่องมะพร้าว ได้แก่ ข้าวโพด มะเขือ ถั่วฝักยาว แตงกวา กระเจี๊ยบ พืชสมุนไพรต่างและมันเทศ และแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน
           พื้นที่ทำการเกษตรอยู่ชุดดินบาเจาะ กลุ่มชุดดินที่ 43 ดินทรายลึกมาก ดินบนมีเนื้อดินเป็นดินทรายหรือดินทรายปนดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงกรดปานกลาง ดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินทรายหรือดินทรายป่นดินร่วน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงกรดเล็กน้อย ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดแคลนน้ำ มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ด้วยชุดตรวจสอบดินภาคสนาม ปรับปรุงบำรุงดินโดยผลิตปุ๋ยหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 วัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักที่หาได้จากในพื้นที่ ได้แก่ เปลือกมะพร้าว อัตราส่วนที่ผลิตปุ๋ยหมัก คือ เปลือกมะพร้าวสับ 10 กิโลกรัม มูลไก่แกลบ 2 กิโลกรัม และสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1/4 ซอง กลับกองทุก ๆ 7 วัน หมักไว้ประมาณ 45 วัน เมื่อปุ๋ยหมักย่อยสลายสมบูรณ์ นำไปผสมดินปลูกในแปลงในอัตรา 10 กิโลกรัมต่อแคร่ (ขนาดแคร่ 1.2 X 6 เมตร) การผลิตน้ำหมักชีวภาพร่วมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ใช้วัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ ผักบุ้ง แตงกวา สับปะรด อัตรา 40 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง หมักได้ 50 ลิตร หมักไว้ประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ นำน้ำหมักชีภาพมาผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 200 ลิตร นำไปรดผักสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง มีการปลูกปอเทืองหมุนเวียนกับข้าวโพด มะเขือ กระเจี๊ยบ มันเทศ นอกจากนี้มีการบริหารจัดการน้ำ ใช้ระบบน้ำหยด น้ำพุ่ง มีเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้ระบบแอร์แว
           ด้านการตลาด มีการวางแผนการปลูกพืชผักหมุนเวียน ได้แก่ ข้าวโพด แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักสลัด คะน้า กวางตุ้ง กว้างตุ้งฮ่องเต้ ผักกาด กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบแดง ตะไคร้ และข่า ผลผลิตมีจำหน่ายทุกวัน โดยผักสลัด กรีโอ๊ค เรดโอ๊ค ส่งให้กับโรงแรม ซี. เอส.ปัตตานี จำนวน 10 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้มีตลาดออนไลน์ ตลาดสินค้าเกษตร เรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี และหน่วยงานราชการ ปี 2565 มีรายได้จากการจำหน่ายผัก 229,500 บาท
           ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของหมอดินดีนเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบลมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เข้าใจง่าย เช่น กระด้ง ตำรับรักษ์ดิน หมอดินดีนมีความเป็นผู้นำและเสียสละต่อส่วนร่วม เป็นผู้นำชุมชนที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลต้นแบบบัตรดินดีพลิกดินฟื้นฟูผืนดิน ประจำปี 2565 จากกรมพัฒนาที่ดิน รางวัลเชิดชูเกียรติผู้บำเพ็ญกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม ประจำปี 2565 จากสถานีพัฒนาที่ดินปัตตานี ฯลฯ