เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2566
ชนะเลิศหมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2566
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8


ชื่อ : นายคำภีร์ หงษ์คำ
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลบึงกระจับ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รางวัลที่ 3 ปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. รางวัลเชิดชูเกียรติ “ปราชญ์เพชรบูรณ์” ด้านความรู้และปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่) ปี 2565 สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์
3. รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ ระดับดี ปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
4. เกษตรกรต้นแบบดีเด่นด้านการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2563 กรมพัฒนาที่ดิน

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายคำภีร์ หงษ์คำ พื้นที่ทำการเกษตร 19 ไร่ มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่ปลูกข้าว (หอมมะลิและไรซ์เบอรี่) ปลูกไม้ผล เช่น ฝรั่งกิมจู น้อยหน่า มะขาม โกโก้ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ผักหวานป่า ไผ่ สัก ประดู่ มะค่า สะเดา ปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ พริก มะเขือ ชะอม กะเพรา มะนาว ผักอื่น ๆ ตามฤดูกาล และปลูกพืชสมุนไพร
           พื้นที่ทำการเกษตรอยู่บน 2 ชุดดิน ได้แก่ กลุ่มชุดดินที่ 54 ชุดดินชัยบาดาล (Cd) เป็นดินลึกปานกลาง เนื้อดินเป็นดินเหนียว ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ปัญหาคือเป็นดินดอนไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว เมื่อดินแห้งจะแตกระแหงเป็นร่องลึก และกลุ่มชุดดินที่ 48 ชุดดินแก่งคอย (Kak) เป็นดินตื้น เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนกรวด ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ปัญหาคือดินตื้นต้องลงทุนสูงเพื่อขุดหลุมปลูกไม้ผล และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งอย่างรุนแรง แก้ปัญหาโดยนำเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินในการวางแผนการใช้ที่ดิน มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ด้วยชุดตรวจสอบดินภาคสนาม มีการปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยการปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ผลิตปุ๋ยหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 จากมูลจิ้งหรีด ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 มีการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยวิธีกล ได้แก่ การปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 1 (การปรับหัวคันนาขนาดใหญ่) ลักษณะที่ 2 (การขุดคันคูล้อม) และ ลักษณะที่ 3 (การขุดคูยกร่องสวน) และการอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยวิธีพืช เช่น การปลูกพืชผสมผสานและการปลูกพืชหมุนเวียน มีการปลูกหญ้าแฝก และขยายพันธุ์หญ้าแฝก
           ด้านการตลาดนายคำภีร์ยึดหลักปลูกได้ ขายเป็น เน้นแปรรูป มีการรวมกลุ่มการผลิต ขาย และสร้างตลาดในชุมชน มีการจัดทำปฏิทินการผลิต และบัญชีฟาร์ม นอกจากนี้มีการปรับตัวในช่วงวิกฤตปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ทางรายการวิทยุ และเว็บไซต์ต่าง ๆ และนายคำภีร์ประสานขอเพิ่มตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยในโรงพยาบาลวิเชียรบุรีเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มมีแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย รายได้ 180,000 บาทต่อปี
           ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของนายคำภีร์เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบล เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านทรัพยากรดินและการจัดการดินของตำบลบึงกระจับ และพื้นที่ใกล้เคียง นายคำภีร์มีความเป็นผู้นำและเสียสละต่อส่วนรวม เป็นผู้นำชุมชนที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลเกษตรกรต้นแบบดีเด่นด้านการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม ประจำปี 2563 และรางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ ประจำปี 2564