หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2566
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7


ชื่อ : นายณัฐพล ขุ่ยคำ
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายณัฐพล ขุ่ยคำ พื้นที่ทำการเกษตร 10 ไร่ มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน โดยมีการแบ่งโซนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พืชผักสวนครัว ไม้ผล ข้าว
           พื้นที่เป็นกลุ่มชุดดินที่ 22 ชุดดินสันทราย (Sai) เป็นดินลึกมาก เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินทรายปนดินร่วน สีน้ำตาลปนเทาหรือสีน้ำตาลปนเทาเข้ม มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลือง ดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกลาง อาจพบศิลาแลงอ่อนสีแดงบ้างเล็กน้อย และมีปัญหาเรื่องการแช่ขังของน้ำในช่วงฤดูฝน จากสภาพพื้นที่ดังกล่าว นายณัฐพลได้นำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของกรมพัฒนาที่ดิน มาใช้ในการจัดการดินมีการปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินด้วยโดโลไมท์และผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงบำรุงดินโดยการปลูกปอเทือง และปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การบริหารจัดการน้ำในคลองไส้ไก่ เพื่อเก็บกักน้ำและกระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณพื้นที่เพาะปลูก ปัจจุบันพื้นที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS นอกจากนี้ยังนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนและฝึกอบรมนวัตกรรมช่วยเหลือกิจกรรมทางการเกษตรแบบครบวงจรมาประยุกต์ใช้ในฟาร์มของตนเอง เช่น การวางแผนการผลิตและการจัดการงบประมาณโดยใช้โปรแกรม excel เป็นต้น
           ด้านการตลาดจำหน่ายผลผลิตของตนเองและสมาชิกในกลุ่มให้กับโรงพยาบาลแม่ใจ ท็อปส์สาขาพะเยา) ตลาดจริงใจ นอกจากนี้จะใช้เทคโนโลยีออนไลน์มาช่วยส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดโดยใช้ App Line My Shop เน้นการทำสื่อในรูปแบบ Infographic เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า หรือเรื่องราวการผลิตเกษตรอินทรีย์ PGS ของกลุ่มให้กับผู้บริโภคได้เข้าใจ
           ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของนายณัฐพล เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินของสถานีพัฒนาที่ดิน และศูนย์เรียนรู้เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดพะเยา ด้านการผลิตปุ๋ยหมักและทำเกษตรอินทรีย์ โดยได้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน คือ เป็นผู้นำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อำเภอแม่ใจ เป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer จังหวัดพะเยาและเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์