รองชนะเลิศอันดับ 1 หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2566
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4


ชื่อ : นางวันดี อุวิทัศ
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลบัวงาม อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. รางวัลชนะเลิศ การประกวดศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน(ศจช.) ดีเด่น ระดับจังหวัด ปี 2565 สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี
2. รางวัลเชิดชูเกียรติหมอดินอาสาดีเด่นผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาที่ดิน เนื่องในวันดินโลก ปี 2565 สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นางวันดี อุวิทัศ พื้นที่ทำการเกษตร 20 ไร่ มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน โดยมีการแบ่งโซนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่นา พื้นที่ป่า ปลูกพืชสวนพืชไร่ และมีแหล่งน้ำ ปี พ.ศ. 2560 เริ่มปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น ปาล์ม และหวาย ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ และได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องจุลินทรีย์และการขยายเชื้อเห็ด จึงทดลองขยายผลในแปลงของตนเอง จนถึงปัจจุบัน
           พื้นที่เป็นกลุ่มชุดดินที่ 22 ชุดดินละหานทราย (Lah) เป็นดินลึกมาก ดินบนเป็นดินร่วนปนทรายหรือทรายปนดินร่วน สีน้ำตาล เทาปนน้ำตาล ดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย พบจุดประสีแดงปนเหลือง ดินมีความเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดจัด ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เสี่ยงต่อการขาดน้ำในช่วงฤดูเพาะปลูก จากสภาพพื้นที่ดังกล่าวจึงมีการแก้ไขปัญหาสภาพดินที่เสื่อมโทรม โดยใช้ปูนโดโลไมท์และปอเทือง มีการรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 ผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืชและสารควบคุมแมลงศัตรูพืช พื้นที่การเกษตรทั้งหมดใช้การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี ลดการเผาทำลายจุลินทรีย์ ใช้สารชีวภัณฑ์ร่วมกับการปลูกพืชแบบผสมผสานหลากหลายชนิดในแปลง ทำให้แมลงรบกวนน้อยลง อีกทั้งมีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งโดยขุดคูน้ำ สร้างถังเก็บน้ำควบคุมด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และวางท่อส่งน้ำทั่วทั้งแปลง และนำเทคโนโลยีจากแอปพลิเคชัน เช่น Agri-Map, LDD on Farm ของกรมพัฒนาที่ดิน มาประกอบการวางแผนปรับเปลี่ยนพื้นที่ แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนตามสภาพพื้นที่เพื่อสามารถบริหารจัดการได้ตลอดทั้งปี
           ด้านการตลาด ได้ก่อตั้งกลุ่มผักอินทรีย์อำเภอบุณฑริก มีสมาชิกกระจายในเกือบทุกตำบล ขายผลผลิตอินทรีย์ในรูปแบบสหกรณ์ โดยมีปันผลคืนกำไรในทุกสิ้นปี นอกเหนือจากรายได้จากการนำสินค้ามาขายแต่ละวันเฉลี่ยประมาณ 500-1,000 บาทต่อราย รายได้รวมของตลาดประมาณ 180,000-200,000 บาทต่อเดือน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องปิดตลาดสินค้าลงชั่วคราว แต่สมาชิกทุกคนยังมีอาหารที่ปลอดภัยไว้รับประทานและจำหน่าย จึงปรับเปลี่ยนวิธีการขาย และเพิ่มช่องทางขายสินค้าออนไลน์ ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย และจัดส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤตและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
           ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของนางวันดีเป็นจุดเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ จัดทำฐานเรียนรู้เพื่อสาธิตถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้เข้าศึกษาดูงานทั้งชุมชนและจากจังหวัดใกล้เคียง นางวันดีมีความเป็นผู้นำและเสียสละต่อส่วนรวม เป็นผู้นำชุมชนที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติหมอดินอาสาดีเด่นผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาที่ดิน เนื่องในวันดินโลก ณ สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี ในปี 2565 และได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ดีเด่น ระดับจังหวัด จากสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2565