หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2566
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10


ชื่อ : นางอุษา พรานพนัส
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. รางวัลหมอดินอาสาส่งเสริมขยายผลการปลูกหญ้าแฝกดีเด่น ปี 2562 กรมพัฒนาที่ดิน
2. รางวัลรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ในการประกวดเกษตรกรและสถาบันเกษตรดีเด่นระดับจังหวัด ประเภทสาขาอาชีพ ไร่นาสวนผสม จากจังหวัดราชบุรี ปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นางอุษา พรานพนัส พื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 8 ไร่ 2 งาน มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบไร่นาสวนผสมตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) ขุดสระกักเก็บน้ำ 2) ปลูกข้าว 3) ปลูกกล้วย มะม่วง พืชผัก และ4) เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงวัว เลี้ยงปลา
           พื้นที่ทำการเกษตรอยู่บน 2 ชุดดิน ได้แก่ กลุ่มชุดดินที่ 7 ชุดดินเดิมบาง (Db) เป็นดินลึก เนื้อดินร่วนปนทรายถึงร่วนเหนียวปนทราย มีความเป็นกรดปานกลาง และกลุ่มชุดดินที่ 18 ชุดดินเขาย้อย (Kyo) เป็นดินลึก เนื้อดินร่วนถึงร่วนปนทราย มีความเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกรดเล็กน้อย ปัญหาการใช้ที่ดิน เดิมปลูกข้าวและปลูกอ้อย อาศัยน้ำฝน ได้ผลผลิตอ้อยน้อยมากและไม่มีคุณภาพ เนื่องจากเมื่อถึงช่วงฝนทิ้งช่วงก็จะประสบปัญหาภัยแล้ง เมื่อเข้าฤดูฝนก็จะประสบปัญหาน้ำท่วมขัง นอกจากปัญหาน้ำแล้ว ยังพบว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แก้ปัญหาโดยนำเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินมาใช้ในการบริหารจัดการดินและน้ำในพื้นที่ ได้แก่ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสด การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนการจัดการน้ำ โดยขุดสระเก็บน้ำ มีการปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบสระเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เพิ่มความชุ่มชื้นในดิน มีการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์เพื่อช่วยในการสูบน้ำเข้าแปลงข้าวและแปลงไม้ผล ผัก บนพื้นที่ดอน จนทำให้พื้นที่มีน้ำใช้ตลอดปี
           ด้านการตลาดนางอุษา มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และแผนพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน ดังนี้ 1) สร้างแบรนด์ ออกแบบแพคเกจจิ้ง ให้กับผลิตภัณฑ์การแปรรูปปลาส้ม หน่อไม้กระป๋อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายที่ตนเองดูแล ให้สามารถขายสินค้าในพื้นที่อื่นได้ นอกเหนือจากการขายในชุมชน 2) สร้างช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้าเกษตรให้กับตนเองและเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร รายได้ 137,860 บาทต่อปี
           ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของนางอุษา เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน มีจุดเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักแบบกอง ปุ๋ยหมักแบบโดนัทซึ่งเป็นการทำปุ๋ยหมักแบบสามารถย้ายอุปกรณ์ไปทำในพื้นที่ต่างๆ ที่มีวัสดุอินทรีย์อยู่ โดยไม่ต้องเปลืองแรงในการขนย้ายวัสดุมาทำปุ๋ยหมัก มีจุดเรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพ แปลงสาธิตการใช้ปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด การไถกลบตอซัง และการห่มดินด้วยฟางข้าว หญ้าคา หญ้าแฝก และเป็นที่ยอมรับจากเกษตรกร ประชาชนในและนอกพื้นที่ได้เข้ามาศึกษาดูงาน เยี่ยมชมศูนย์ฯ 1,000-1,500 รายต่อปี นางอุษา เป็นบุคคลที่เสียสละเวลาของตนเองทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วม มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่ชาวบ้าน และเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานให้หน่วยงานราชการ เช่น ประธานอาสาสมัครพัฒนาชุมชน ปศุสัตว์อาสา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้พร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐหลายหน่วยงาน