เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2565
ชนะเลิศหมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5


ชื่อ : นายบรรจง แสนยะมูล
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. ประมงอาสาดีเด่นลําดับที่สอง ปี 2562 สํานักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม
2. วิสาหกิจชุมชนดีเด่น ปี 2562 สํานักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม
3. คนดีศรีสารคาม ปี 2561 วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายบรรจง แสนยะมูล มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน มีพื้นที่เป็นของตนเอง จำนวน 12 ไร่ แบ่งเป็น สวนไผ่ตง 2 ไร่ สวนไผ่เลี้ยง 1 ไร่ สวนมะม่วง 1 ไร่ สวนมะนาว 1 งาน สวนผสมผสาน 1 ไร่ สวนป่ายางนา 1 ไร่ แปลงข้าว แปลงผักปลูกแบบหมุนเวียน 2 งาน ปศุสัตว์ 1 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ และ ที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้าง 2 ไร่
           พื้นที่ทำการเกษตร อยู่บนชุดดินบ้านไผ่ (Bpi) กลุ่มชุดดินที่ 41 มีข้อจำกัด คือ ดินเป็นทรายจัด ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดน้ำในฤดูแล้ง มีการชะล้างพังทลายของดิน และปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงกรดจัด (pH 5.0-5.5) แก้ไขดินเป็นกรดโดยใช้โดโลไมท์ มีการปรับปรุงบำรุงดินในแปลงนา ฉีดพ่นตอซังข้าวด้วยน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ผลิตจากปลาและหอยเชอรี่ อัตรา 20 ลิตรต่อไร่ แล้วไถกลบทันที หว่านพืชปอเทือง ไถกลบระยะออกดอก ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ผลิตจากหน่อกล้วย ปลาและหอยเชอรี่ เจือจางด้วยน้ำ 1 ต่อ 20 หลังจากดำนา 1 เดือน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ผลิตจากผลไม้สุก ปลาและหอยเชอรี่ เจือจางด้วยน้ำ 1 ต่อ 20 ตอนข้าวกำลังตั้งท้อง และช่วงข้าวออกรวง และหว่านปุ๋ยอินทรีย์สูตรมูลวัว (14:2:2:1:1 มูลวัว : เปลือกหอยบด : ปูนโดโลไมท์ : แกลบดิบบด : ถ่านไบโอชาร์จากไม้ไผ่) อัดเม็ด 2 ครั้ง รองพื้น และหลังจากดำนา 1 เดือน อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนแปลงไผ่ คลุมดินด้วยใบไผ่ และฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ผลิตจากเศษปลาและหอยเชอรี่ เจือจางด้วยน้ำ 1 ต่อ 20 ฉีดปีละ 2 ครั้ง
           ด้านการจัดการน้ำ มีการขุดสระน้ำ ลึก 3-5 เมตร จำนวน 2 บ่อ (เลี้ยงปลาในบ่อ) สร้างถังบรรจุน้ำขนาดความจุ 8,000 ลิตร สูง 12 เมตร และถังบรรจุน้ำขนาดความจุ 30,000 ลิตร เพื่อสำรองน้ำโดยสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ขุดบ่อบาดาล จำนวน 2 บ่อ มีการให้น้ำพืชด้วยระบบน้ำหยดและระบบสปริงเกอร์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต
           ปัจจุบัน แปลงปลูกพืชผสมผสานของนายบรรจง ได้มาตรฐานรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เป็นแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ รหัส TAS: 55376 มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตข้าว ไผ่ พืชผัก พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ ประมง ประมาณ 281,000 บาทต่อปี และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินให้เกษตรกรในชุมชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยตั้งชื่อไร่ว่า “ไร่แสนดี” นอกจากนี้นายบรรจงยังได้รับคัดเลือกให้เป็นครูพิเศษ ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ภายใต้โครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.)