หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4


ชื่อ : นายพรณรง ปั้นทอง
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำตำบล
ที่อยู่ : ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายพรณรง ปั้นทอง มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน มีพื้นที่ทำการเกษตรเป็นของตนเอง จำนวน 38 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว 10 ไร่ ไม้ผล/ ไม้ยืนต้น 6 ไร่ ผักสวนครัว 6 ไร่ หญ้าเลี้ยงสัตว์ 6 ไร่ ป่าธรรมชาติ 4 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ คอกสัตว์และที่อยู่อาศัย รวม 4 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตรอยู่ใน 2 ชุดดิน ได้แก่ ชุดดินภูพาน (Pu) กลุ่มชุดดินที่ 40 และดินคล้ายชุดดินกำบงที่เป็นทรายหนา (Kg-tks) กลุ่มชุดดินที่ 41 ทั้ง 2 ชุดดินมีปัญหาคือเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เป็นกรดจัด ดินเสื่อมโทรม มีชั้นดาน และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
           นายพรณรงค์มีการนำดินไปวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาดินเป็นกรดก่อนการทำนาโดยใช้โดโลไมท์ ปรับปรุงบำรุงดินโดยการหว่านปอเทืองเพื่อไถกลบช่วงออกดอกทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จึงใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัว) ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ มีการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ผลิตจากผลไม้ และใช้น้ำหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ที่ผลิตจากพืชสมุนไพร เพื่อป้องกันและขับไล่แมลง
           การบริหารจัดการน้ำ ลงทุนขุดสระน้ำเองขนาด 1,200 ลูกบาศก์เมตร ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดินอีก 1 สระขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร และได้มีการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อเติมน้ำจากบ่อบาดาลลงในสระน้ำให้สามารถมีน้ำใช้พอเพียงตลอดปี โดยสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์จากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพลังงานจังหวัดอำนาจเจริญ และปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
           การตลาด มีการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในชื่อสามก๊ก มีการผลิตข้าวกล้องงอก ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวแดง จำหน่าย และมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผัก ปศุสัตว์ และประมง มีรายได้สุทธิ 280,800 บาทต่อปี จัดทำปฏิทินการผลิตพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด ใช้ระบบปลูกพืชผสมผสาน และปลูกพืชหมุนเวียน พื้นที่ปลูกข้าวได้เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) และปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 2
           ปัจจุบันพื้นที่ของนายพรณรงเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบล ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน โดยเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในการอบรมและการศึกษาดูงานแก่เกษตรกร เยาวชน นักเรียน หน่วยงานภาครัฐ และบุคคลทั่วไป