หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10


ชื่อ : นางสาวศิริรัตน์ แต่แดงเพชร
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. รางวัลชนะเลิศ ระดับจังหวัด ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านตะโกล่าง จังหวัดราชบุรี ปี 2564 กรมการปกครอง
2. ปราชญ์เกษตรของจังหวัดราชบุรี สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2562 จังหวัดราชบุรี
3. รางวัลรองชนะเลิศ ประเภทชุมชนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของกองพลพัฒนาที่ 1 ปี 2556 กองพลพัฒนาที่ 1

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นางสาวศิริรัตน์ แต่แดงเพชร มีผลงานเด่นด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน พื้นที่ทำการเกษตรเป็นของตนเอง จำนวน 87 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา กล้วย ไม้ยืนต้น ปลูกป่า พืชผักสมุนไพร เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไส้เดือน
           พื้นที่ทำการเกษตรอยู่บนชุดดินท่ายาง (Ty) กลุ่มชุดดินที่ 48 ปัญหาที่พบ คือ ดินตื้นและเนื้อดินเป็นดินปนเศษหิน เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและการกัดกร่อนของดิน เป็นดินเสื่อมโทรม และความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
           เดิมนางสาวศิริรัตน์ใช้พื้นที่ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลังและผักกาดหัว มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่อเนื่องยาวนาน ต่อมาปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการวางผังแปลงปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เช่น การปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้พืชปุ๋ยสด ผลิตปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด 1 ที่ผลิตจากมูลไส้เดือน หรือมูลไก่ไข่ที่หมักกับใบไผ่ ใบหญ้าที่ตัดจากแปลง ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด 2 ผลิตสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นในคอกหมูด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด 6 จากหน่อกล้วย การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ เช่น จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าว ผลิตน้ำส้มควันไม้ เพื่อใช้ไล่แมลงศัตรูพืช
           นางสาวศิริรัตน์ ทำการเกษตรโดยใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก มีการใช้เครื่องจักรกลเฉพาะการขุดบ่อน้ำ ใช้แฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อลดการไหลบ่า ลดการชะล้างหน้าดินทำให้น้ำซึมลงดิน เพิ่มความชื้นในดินและเก็บกักน้ำ นำวัสดุในแปลง ได้แก่ ไม้ไผ่ เศษหิน ทราย นำมาจัดทำฝายชะลอน้ำร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก นอกจากนี้การนำกิจกรรมที่ได้ดำเนินการในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ต้นกล้วยมาทำเป็นอาหารหมู นำพืชสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน ผลิตสบู่ ดอกอัญชัน มะกรูด ผลิตยาสระผม และน้ำยาเอนกประสงค์ เป็นต้น
           ด้านการตลาด นำผลผลิตจำหน่ายที่บ้าน ตลาดโอ๊ป๋อย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และตลาดออนไลน์ ผลสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ และการพัฒนาที่ดิน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินเพิ่มขึ้น ลดภาวะหนี้สิน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 782,920 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 150.9 รวมทั้งมีการขยายผลสู่เกษตรกร ประชาชน และหน่วยงานราชการ จนได้รับการยอมรับจากเกษตรกร ประชาชน หน่วยงานงานราชการ ได้รับการประกาศยกย่องจากหน่วยงานราชการให้เป็นคนมีความรู้ความสามารถ ช่วยเหลือสังคมและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์