หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2564
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8


ชื่อ : นายบอวร พิมสารี
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. รางวัลชมเชย หญ้าแฝก ปตท. สาขา พื้นที่ลาดชัน ปี 2562 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. และกรมพัฒนาที่ดิน
2. ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดการปลูกหญ้าแฝก ประเภท เกษตรกรดีเด่น ปี 2561 กรมพัฒนาที่ดิน

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายบอวร มีผลงานเด่นด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการทำเกษตรผสมผสาน บนพื้นที่ลาดชัน มีพื้นที่เป็นของตนเอง 22 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ ปลูกไม้ผล ผักสวนครัว นาข้าว ขุดสระน้ำ และเลี้ยงปลา
           พื้นที่ทำการเกษตรของนายบอวร ประกอบด้วย 2 ชุดดิน ได้แก่ ชุดดินวังไห (Wi) กลุ่มชุดดินที่ 31 และ ชุดดินเพชรบูรณ์ (Pe) กลุ่มชุดดินที่ 56 ซึ่งชุดดินทั้ง 2 ชุดดิน เป็นดินลึก สภาพพื้นที่มีความลาดชันสูง ดินถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย ดินเป็นกรดเล็กน้อยถึงกรดจัด จึงมีการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมทั้งวิธีกลและวิธีพืช ได้แก่ การสร้างคันดินเบนน้ำ ขั้นบันไดดิน บ่อดักตะกอนดิน และปลูกหญ้าแฝกพันธุ์ศรีลังกา เพื่อช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน มีการใช้โดโลไมท์เพื่อปรับสภาพดินก่อนการปลูกพืช ในอัตราส่วน 200 กก./ไร่ ปรับปรุงบำรุงดินอยู่เสมอด้วยการปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ในการจัดการดินเพื่อเพาะปลูก นายบอวรได้ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และได้มีการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลสัตว์ ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ผลิตสารควบคุมและไล่แมลงศัตรูพืชจากพืชสมุนไพร ในแปลงเกษตรของตนเองด้วย
           เดิมนายบอวรมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือข้าวโพดเพียงอย่างเดียวทำให้มีรายได้ปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของครอบครัว แต่หลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรเป็นแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชที่หลากหลาย มีการวางแผนการปลูกพืชโดยเฉพาะการปลูกพืชผักสวนครัว ทำให้มีรายได้จากการขายผลผลิตทุกวัน เฉลี่ยวันละ 600-700 บาท นอกจากนี้ ยังมีการปลูกข้าวไว้บริโภคเองในครัวเรือน และ ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง น้อยหน่า แก้วมังกร มะขามเปรี้ยว เป็นต้น
           นายบอวรขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง จำนวน 9 บ่อ ซึ่งเพียงพอต่อการทำการเกษตรตลอดทั้งปี และยังสามารถใช้เลี้ยงปลาทำให้มีรายได้จากการขายปลาอีกทางหนึ่ง โดยปลาที่เลี้ยง ได้แก่ ปลานิล ปลายี่สก ปลาหมอ และปลาตะเพียน
           ปัจจุบัน พื้นที่ของนายบอวรได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ปีละกว่า 1,000 คน อีกทั้งยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดการปลูกหญ้าแฝก ประจำปี 2561 มีรายได้สุทธิเฉลี่ยประมาณ 255,500 บาท/ปี