หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2564
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6


ชื่อ : ว่าที่ร้อยตรีชนะ ไชยชนะ
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           ว่าที่ร้อยตรีชนะ มีผลงานเด่นด้านเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ มีพื้นที่เป็นของตนเองทั้งหมด 21 ไร่ แบ่งพื้นที่ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ได้แก่ งาดำ ลำไย มะม่วง กระเทียม สมุนไพร โรงเรือนปลูกสตรอว์เบอร์รี บ่อเก็บน้ำและเลี้ยงปลา
           พื้นที่ทำการเกษตรของว่าที่ร้อยตรีชนะ เป็นชุดดินแพร่ (Pae) กลุ่มชุดดินที่ 35 พบปัญหาคือ เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดเล็กน้อย มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำและความสามารถในการกักเก็บน้ำต่ำ เสี่ยงต่อการขาดน้ำ แนวทางการแก้ไขปัญหา มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ และปรับปรุงบำรุงดินตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยนำเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินมาใช้ และ ได้แก่ ปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) แล้วไถกลบร่วมกับหญ้าเนเปียร์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตกระเทียมอินทรีย์ มีเศษวัสดุจากการผลิตกระเทียมจึงนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากเศษผักและผลไม้อินทรีย์ใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 7 ผลิตสารควบคุมและไล่แมลงศัตรูพืชจากใบสาบเสือ ข่า ตะไคร้ สะเดา เพื่อแจกจ่ายให้แก่สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
           ด้านการจัดการน้ำ มีการขุดสระน้ำและใช้น้ำแบบระบบน้ำหยด และปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ว่าที่ร้อยตรีชนะเลือกปลูกพืชที่เป็นที่ต้องการของท้องตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปผลผลิตด้วยเทคโนโลยีฟรีซดรายทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน
           ปัจจุบันว่าที่ร้อยตรีชนะเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาพืชผักสมุนไพรและผลไม้ บ้านป่าป๋วย จังหวัดลำพูน โดยมีการบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด มีการวางแผนการจัดการแปลงอย่างดี จนสินค้าเกษตรอินทรีย์หลายชนิดผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เช่น Organic Thailand IFOAM EU COR และ USDA organic รวมถึงได้เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ PGS ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินขับเคลื่อนกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS กับเกษตรกรในท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ยังมีการริเริ่มโครงการแปรรูปผลผลิตพื้นเมืองหลายชนิดให้เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ อีกทั้งมีงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในภาคเหนือมากมาย