หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2564
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4


ชื่อ : นายสำรอง อำพนพงษ์
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำตำบล
ที่อยู่ : ตำบลสามัคคี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายสำรอง มีผลงานเด่นด้านการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นพืชผสมผสาน มีพื้นที่เป็นของตัวเอง 31 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็นนาข้าว 18 ไร่ พืชผสมผสาน 5 ไร่ อ้อยคั้นน้ำ 2 ไร่ เลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ สระน้ำพร้อมกับเลี้ยงปลาในสระ 4 ไร่ และแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่
           พื้นที่ทำการเกษตรของนายสำรองเป็นชุดดินจักราช (Ckr) กลุ่มชุดดินที่ 40 พบปัญหา คือ ดินเป็นกรด เนื้อดินค่อนข้างเป็นดินทราย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พืชที่ปลูกมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำได้ง่าย บริเวณพื้นที่ลาดชันจะมีปัญหาเกี่ยวกับการชะล้างพังทลายของหน้าดิน นายสำรองปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนามาทำเกษตรผสมผสาน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน แก้ปัญหาดินเป็นกรดโดยการใช้ปูนโดโลไมท์ ปรับปรุงบำรุงดินโดยปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง ถั่วพร้า) แล้วไถกลบ การจัดการดินในการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ใช้ปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์พด.1 ในการเตรียมหลุมเพาะปลูก ใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์พด.2 ฉีดพ่นต้นไม้ผลในระยะเจริญเติบโต และระยะที่ไม้ผลกำลังติดดอก และใช้เศษฟางข้าวคลุมโคนต้น เพื่อรักษาความชื้นในดิน การจัดการดินในแปลงปลูกข้าว ปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยหมักในการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก ระหว่างการเพาะปลูกใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉีดพ่นต้นข้าว และใช้น้ำหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ในการไล่เพลี้ยและแมลงที่รบกวนในแปลงปลูกข้าว และไถกลบตอซังหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแทนการเผาตอซัง รวมทั้งมีการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ปลูกไม้ผลพืชผักบนคันนา (มีการปรับรูปแบบคันนาให้ใหญ่ขึ้น) รอบบ่อน้ำและตามแนวถนนทางเดิน
           การบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำของพืช มีการทำคันดินกักเก็บน้ำและขุดบ่อน้ำในไร่นา เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบโดยวิธีการปล่อยแบบกาลักน้ำเข้าแปลงนา ตามแนวความลาดเทของระดับพื้นที่
           ปัจจุบันนายสำรอง ผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ เข้าสู่ขบวนการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS (ขั้นที่ 1) มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ออกจำหน่าย นอกจากนี้ นายสำรองยังเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินยโสธร จากการใช้เทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินในการพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ รายได้สุทธิรวม 455,000 บาทต่อปี