หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2564
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3


ชื่อ : นางสาวเอมพิกา แสนสระ
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นางสาวเอมพิกา มีผลงานเด่นด้านการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน โดยเฉพาะการผลิตมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและความอุดมสมบูรณ์ดินต่ำ มีพื้นที่เป็นของตนเอง จำนวน 43 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 20 ไร่ มะม่วง 10 ไร่ อ้อย 5 ไร่ ไผ่ 2 ไร่ และ สระน้ำ 4 ไร่ นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง 1 ไร่ และแบ่งเป็นที่พักอาศัย 1 ไร่
           พื้นที่การเกษตรของนางสาวเอมพิกาเป็นชุดดินภูพาน (Pu) กลุ่มชุดดินที่ 40 ซึ่งพบปัญหา คือ ดินเป็นกรด มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายปนดินร่วน การอุ้มน้ำต่ำถึงปานกลาง น้ำใต้ดินลึก มีการกัดกร่อนของดินปานกลางถึงรุนแรง บริเวณที่มีความลาดชันสูงเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ เดิมพื้นที่นี้นางสาวเอมพิกาปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ข้าว มะม่วง และ อ้อย ต่อมาได้หันมาปลูกพืชหมุนเวียนแซมในแปลงมะม่วงตามฤดูกาล อาทิ ตะไคร้ มะนาว น้อยหน่า มะพร้าว ฟักทอง มะเขือ มันเทศ พริก มะละกอ นอกจากนี้ยังปลูกไม้ยืนต้นจำพวก ไม้พยุง ไม้แดง และไม้สัก การจัดการดินในพื้นที่นาข้าวการไถกลบตอซังข้าว และทุกครั้งก่อนไถกลบตอซังจะฉีดพ่นด้วย น้ำหมักชีวภาพผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 500 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าวและเพิ่มจุลินทรีย์ในดินหลังจากนั้นจึงทำการหว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทือง แล้วไถกลบปอเทืองในระยะออกดอกก่อนปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 และข้าวพันธุ์ กข.6 ในแปลงมะม่วงและแปลงปลูกพืชผสมผสาน จะปลูกหญ้าแฝกแบบวงกลมล้อมรอบ มีการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ มีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาพื้นที่รอบแปลงทำการเกษตรของตนเองด้วยการปลูกหญ้าแฝก การคลุมดินด้วยใบหญ้าแฝกร่วมกับการใช้เทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินอื่น ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน จนทำให้พื้นที่ทำการเกษตรมีความโดดเด่น คือ ดินมีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปีและดินมีอินทรียวัตถุสูง
           แหล่งน้ำพื้นที่ 4 ไร่ มีการจัดการโดยนำปุ๋ยคอกโรยก้นสระร่วมกับปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 เพื่อแก้ปัญหาการรั่วซึม และปลูกหญ้าแฝกขอบสระ รวมทั้งมีการเลี้ยงปลาชนิดต่าง ๆ
           จากการดำเนินการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น การคลุมดินทำให้เดินมีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการผลิต พบว่าผลผลิตมะม่วงพันธุ์ดอกไม้สีทองเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี 8,500 บาทต่อรอบการผลิต โดยมีรายได้สุทธิ 492,000 บาทต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้ทำการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานจนได้รับรางวัล และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย