หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2564
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2


ชื่อ : นางมัณยภา อิ่มผ่อง
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลอ่างคีรี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. รางวัลชนะเลิศเกษตรกรผู้ถือบัตรดินดีต้นแบบ ระดับเขต ปี 2563 กรมพัฒนาที่ดิน
2. รางวัลหมอดินอาสา สาขาส่งเสริมขยายผลการปลูกหญ้าแฝกดีเด่น ปี 2562 กรมพัฒนาที่ดิน

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นางมัณยภา มีผลงานเด่นด้านทำการเกษตรที่ดี (GAP) แบบผสมผสาน โดยปลูกทุเรียนเป็นพืชหลัก มีพื้นที่เป็นของตนเอง 49 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ในการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว และสระน้ำ
           พื้นที่การเกษตรของนางมัณยภา ประกอบด้วย 2 ชุดดิน คือชุดดินคลองชาก (Kc) กลุ่มชุดดินที่ 45 เนื้อที่ 39 ไร่ มีปัญหาเรื่องดินตื้น เนื้อดินเป็นดินเหนียว ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินเป็นกรด สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนชันและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และชุดดินท่าแซะ (Te) กลุ่มชุดดินที่ 34 เนื้อที่ 10 ไร่ เนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดิน ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินเป็นกรด สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หน้าดินแตกระแหงเป็นร่องลึก ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และมีน้ำท่วมในฤดูฝน นางมัณยภาปลูกพืชแบบผสมผสาน ได้แก่ ทุเรียน กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า มะพร้าว กาแฟ มะละกอ มังคุด ปลูกพืชผักไว้บริโภคภายในครัวเรือน ปลูกใบเตยเป็นพืชเสริมรายได้ และปลูกต้นอโศกอินเดียเป็นไม้กันลม มีการสร้างคันกั้นน้ำ คันดิน คูรับน้ำขอบเขา ทางระบายน้ำ ขุดสระน้ำ ปรับปรุงบำรุงดินโดยปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเป็นพืชปุ๋ยสด ใช้โดโลไมท์แก้ปัญหาดินกรดตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผลิตจากปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืช ใบหญ้าแฝก มูลไก่ สุกร วัว ผสมกับปุ๋ยยูเรียเพื่อเพิ่มไนโตรเจน ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ตกเกรด ราคาตก และวัสดุหมักที่หาได้ในท้องถิ่น ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืช ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ผลิตสารควบคุมและไล่แมลงศัตรูพืชจากพืชสมุนไพรในท้องถิ่น มีการไถพรวนขวางความลาดเท ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวขวางความลาดเท ระหว่างร่องปลูกพืช แบบวงกลมและครึ่งวงกลม เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และตัดใบแฝกคลุมโคนต้นพืชรักษาความชื้นดิน
           การบริหารจัดการน้ำ ได้ขุดสระน้ำบนพื้นที่สูงสุดของแปลง ใช้ภูมิปัญญาปล่อยน้ำเข้าสระเล็กน้อยกวนเลนในบ่อให้เป็นโคลนเพื่อให้ละอองของตะกอนไปอุดรูรั่วและย่ำดินให้แน่น (ทำทุกครั้งที่มีการปล่อยน้ำหมดสระเพื่อลดการซึมของน้ำทำซ้ำประมาณ 3 ครั้ง) วางระบบท่อส่งน้ำ และให้น้ำร่วมกับน้ำหมักชีวภาพแบบสปริงเกอร์เข้าแปลงทุเรียนโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก การให้น้ำโดยใช้หลักปล่อยน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำสามารถประหยัดทั้งพลังงาน แรงงาน เวลา และ ต้นทุนการผลิตได้มาก
           นางมัณยภา ได้นำผลผลิตทุเรียนมาแปรรูปเป็นทุเรียนทอดและทุเรียนกวน รวมรายได้ในการทำการเกษตรเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,350,000 บาท ปัจจุบันพื้นที่ของนางมัณยภาเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน โดยทำหน้าที่เป็นวิทยากรในศูนย์ฯ ของตนเอง บรรยายทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ นอกจากนี้นางมัณยภา ได้เข้าร่วมโครงการบัตรดินดี และเป็นประธานกลุ่มมังคุดแปลงใหญ่ด้วย