เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2564
ชนะเลิศหมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2564
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10


ชื่อ : นายวิเชียร บุญรอด
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำตำบล
ที่อยู่ : ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
รางวัลและประกาศเกียรติบัตร :
1. ประมงอาสาดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2560 กรมประมง
2. เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่น ปี 2559 กรมส่งเสริมการเกษตร
3. อาสาพัฒนาชุมชนดีเด่น ปี 2556 กรมการพัฒนาชุมชน

ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายวิเชียร บุญรอด มีผลงานเด่นด้านการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเฉพาะการปลูกทุเรียน และเงาะ ในพื้นที่แห้งแล้งและดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีพื้นที่เป็นของตนเอง จำนวน 19 ไร่ โดยแบ่งเป็นที่พักอาศัย จำนวน 1 ไร่ 2 งาน ขุดเป็นสระเก็บน้ำจำนวน 3 ไร่ ส่วนที่เหลือ 14 ไร่ 2 งาน ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา และเลี้ยงวัว มีพื้นที่เช่า 28 ไร่ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน
           พื้นที่ทำการเกษตรของนายวิเชียรเป็นชุดดินท่ายาง (Ty) กลุ่มชุดดินที่ 48 มีข้อจำกัด คือความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ เป็นดินตื้นและเนื้อดินเป็นดินปนกรวดลูกรังปนเศษหินถึงชั้นหินพื้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและการชะล้างพังทลายของดิน เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันสูง และดินมีความเป็นกรด มีการปรับปรุงดินโดยการปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) จัดการพื้นที่ปลูกทุเรียนและเงาะโดยพูนดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ดูแลบำรุงรักษาต้นทุเรียนและเงาะโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผลิตปุ๋ยหมักจาก มูลวัว มูลสุกร มูลเป็ด อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อต้น สำหรับทุเรียนและเงาะที่ยังไม่ติดผล และอัตรา 70-75 กิโลกรัมต่อต้นสำหรับทุเรียนและเงาะที่ติดผลแล้ว โดยใส่ปุ๋ยหมัก 3 เดือนต่อครั้ง นอกจากนี้ยังใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้สุกโดยให้น้ำหมักผสมกับระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ 3 วันต่อครั้ง ๆ ละ 15 นาที เพื่อบำรุงต้น ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ผลิตสารควบคุมและไล่แมลงศัตรูพืชจากพืชสมุนไพรในท้องถิ่น ได้แก่ เมล็ดสะเดาบด หางไหล และบอระเพ็ด ฉีดพ่นเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชระบาด และใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรครากเน่าและโคนเน่าของพืช ใส่บริเวณทรงพุ่มทุเรียนและเงาะในระยะเริ่มติดผล ภายในแปลงไม่มีการฉีดสารกำจัดวัชพืชแต่จะใช้วิธีตัดหญ้า และนำเศษหญ้าไปคลุมดินบริเวณโคนต้น และมีการปลูกกล้วยแซมระหว่างพื้นที่ปลูกทุเรียน และ เงาะ นอกจากนี้ยังปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 400 ต้น โดยระหว่างแถวจะปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ จำนวน 500 ต้น
           ด้านการจัดการน้ำ มีการขุดสระน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร 3 จุด คือ ต้นแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง โดยขุดลึก 3-5 เมตร ขุดร่องระบายน้ำขวางทางลาดชันของพื้นที่ เพื่อระบายน้ำลงสระและกระจายความชุ่มชื้น และสระเก็บน้ำเป็นจุด ๆ พร้อมกับเลี้ยงปลาในสระ ในด้านระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ มีการปลูกหญ้าแฝก จัดทำฝายชะลอน้ำ จำนวน 8 ฝาย คูระบายน้ำความยาว 300 เมตร และติดตั้งชุดแผงโซลาร์เซลล์ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต
           ปัจจุบันผลผลิตทุเรียน และ เงาะ ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทุเรียน เงาะ ปาล์มน้ำมัน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ปลา และวัว โดยประมาณ 488,000 บาทต่อปี นายวิเชียรเน้นจำหน่ายผลผลิตในพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้จังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้แห่งใหม่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จนได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงาน เยี่ยมชมแปลงเป็นจำนวนมาก และได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกทุเรียนและเงาะ อีกทั้งยังได้รับรางวัล เชิดชูเกียรติและเกียรติคุณจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ มากมาย