หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2564
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1


ชื่อ : นายสายันต์ โฉมเชิด
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำตำบล
ที่อยู่ : ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายสายันต์ มีผลงานเด่นด้านทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่ราบลุ่มนาข้าวจังหวัดชัยนาท มีพื้นที่เป็นของตนเอง 4 ไร่ 2 งาน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล 2 ไร่ ผักสวนครัว 2 งาน สระน้ำ 2 งาน เลี้ยงปลาตะเพียนในร่องสวน 2 งาน เลี้ยงไก่ไข่และอื่น ๆ อีก 1 ไร่
           พื้นที่ทำการเกษตรของนายสายันต์ เป็นชุดดินชัยนาท (Cn) กลุ่มชุดดินที่ 4 ซึ่งพบปัญหาเรื่องดินเหนียวจัด หน้าแล้งดินแน่นแข็ง หน้าดินแตกระแหงเป็นร่องลึก ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และมีน้ำท่วมในฤดูฝน เดิมนายสายันต์ ปลูกข้าวแต่ได้มีการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ขุดคูยกร่องเพื่อปลูกมะม่วง ฝรั่ง หม่อน กล้วยหอม บนร่องสวน โดยขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองพื้นในการปลูกไม้ผล และพืชผักผสมผสาน ได้แก่ ดอกสลิด มะเขือ พริก ขุดสระน้ำ ในร่องสวนเลี้ยงปลาตะเพียน ปรับปรุงบำรุงดินโดยปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเป็นพืชปุ๋ยสด ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผลิตปุ๋ยหมักจากใบไม้ ฟางข้าว เศษผัก มูลสัตว์ ใส่ในแปลงผักอัตรา 3 ตันต่อไร่ และไม้ผลอัตรา 20 กก.ต่อต้น และผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมาใช้ในแปลงผักด้วย ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากเศษผัก และผลไม้ ใช้อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร รดในแปลงผักสวนครัว และไม้ผล ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ผลิตสารควบคุมและไล่แมลงศัตรูพืช ที่ผลิตจากสมุนไพร เช่น กลอย ใช้อัตรา 1:100 ฉีดพ่นก่อนแมลงศัตรูพืชจะระบาดหรือระบาดแล้วแต่ไม่รุนแรง
           การบริหารจัดการน้ำ ขุดสระน้ำขนาด 2 งาน เพื่อสำรองน้ำไว้ในฤดูแล้ง สูบน้ำจากสระน้ำมาพักไว้ในบ่อเก็บสำรองน้ำขนาด 1,000 ลบ.ม. ทิ้งไว้ 15 วัน แล้วสูบน้ำสู่แปลงพืชผักด้วยระบบสปริงเกอร์โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และมีการใช้หญ้าแฝกปลูกขอบร่องสวนป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินเพิ่มอินทรีย์วัตถุ
           นายสายันต์ ได้ศึกษาวงจรและราคาผลผลิตของสินค้าเกษตรจึงสามารถวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดทำให้ขายได้ราคาสูง และยังสามารถกำหนดราคาของสินค้าเองได้ รวมรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 88,320 บาท ปัจจุบันเข้าร่วมโครงการบัตรดินดี และโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) นอกจากนี้พื้นที่ทำการเกษตรได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน มีผู้มาศึกษาดูงานในระดับอำเภอเป็นจำนวนมากและยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ PGS อีกด้วย