หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2563
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2


ชื่อ : นางวัฒนา จาจิรัตน์
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นางวัฒนา จาจิรัตน์ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมู่ 6 ตำบลทับพริกอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีผลงานเด่นด้านการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ดำเนินการบนพื้นที่ 40 ไร่ กลุ่มชุดดินที่ 31 ชุดดินกลางดง (Kld) ลักษณะดินเป็นดินเหนียวลึก แน่นทึบ เมื่อแห้งจะแข็ง สีน้ำตาลเข้มถึงสีน้ำตาลปนเทาเข้ม ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง จากการสังเกตลักษณะดินในพื้นที่ พบปัญหาดินตื้นถึงลึกปานกลาง เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกมะม่วงพันธุ์แก้วเนื้อทอง และระหว่างร่องมะม่วงปลูกข้าวไร่พันธุ์สุพรรณกัลยาสลับกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 37 ไร่ และปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 13 จำนวน 3 ไร่
           การจัดการดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร และอินทรียวัตถุในดิน โดยใช้ปอเทืองร่วมกับการไถกลบตอซังพืชใช้น้ำหมักชีวภาพ และการจัดการพันธุ์พืช ในการปลูกมะม่วงมีการใช้ต้นตอเป็นมะม่วงพันธุ์กะล่อนทองซึ่งจะมีรากแก้วช่วยหาอาหารและทนต่อสภาพขาดแคลนน้ำ ในการปลูกมะม่วงมีการใช้เครื่องเจาะเพื่อให้รากพืชหยั่งลึกลงไปในสภาพดินตื้นได้ และยังช่วยประหยัดแรงงานในการปลูก บริเวณรอบโคนต้นมะม่วงมีการใช้ปุ๋ยหมักจากเศษพืชและมูลสัตว์ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้มะม่วงจะได้รับธาตุอาหารจากการจัดการดินของการปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ที่ปลูกระหว่างร่องมะม่วง
           โดยในพื้นที่ปลูกข้าวสลับกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการปลูกปอเทืองระหว่างร่องมะม่วงและไถกลบช่วงออกดอกพร้อมกับการหว่านเมล็ดข้าว เมื่อข้าวอายุ 75 วัน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพผักผลไม้โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ผสมกับน้ำหมักมูลไส้เดือน เจือจางกับน้ำ 1 ต่อ 500 โดยใช้โดรนในการฉีดพ่น เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ไถกลบตอซังข้าวพร้อมหว่านปอเทืองอีกครั้ง แล้วไถกลบปอเทืองในช่วงออกดอก ก่อนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงข้าวโพดติดออกฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพที่ผสมกับน้ำหมักมูลไส้เดือน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้วก็จะไถกลบตอซังข้าวโพด ก่อนวางแผนปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไปสำหรับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมีการปลูกปอเทืองและไถกลบในช่วงออกออกก่อนปลูกมันสำปะหลัง แช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยน้ำหมักชีวภาพ และเมื่อมันสำปะหลังอายุ 3 เดือนครึ่ง ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากผักผลไม้ผสมกับน้ำหมักมูลไส้เดือน จากการจัดการดินทำให้ได้ผลผลิตมะม่วง 6 ตันต่อไร่ ข้าว 2.18 ตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 25 ตัน ในพื้นที่ 40 ไร่ สำหรับมันสำปะหลังปลูกเพื่อเป็นท่อนพันธุ์ให้กับเครือข่ายเป็นหลัก
           นอกจากนี้ได้มีการแปรรูปมะม่วงอบแห้ง สำหรับตลาดของมะม่วง ขายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปประเทศจีนและมาเลเซีย โดยมีการจัดทำเพจของสวนเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และการตลาด รวมทั้งมีการรวมกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกมะม่วง และมีผู้สนใจมาศึกษาดูงานจำนวนมาก
ดาวน์โหลดโปสเตอร์หมอดินอาสาดีเด่น คลิก