หมอดินอาสาดีเด่น กรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2562
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11


ชื่อ : นายสุนทร ทิพย์ภักดี
ตำแหน่ง : หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
ลักษณะพื้นที่ ปัญหาของดิน และแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ดิน
           นายสุนทร ทิพย์ภักดี ได้มีความสนใจสมัครเข้าฝึกอบรมเป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน และได้ศึกษาความรู้เรื่องการพัฒนาที่ดิน การแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม การพัฒนาการเกษตรแบบอินทรีย์ จึงนำองค์ความรู้มาพัฒนาแปลงเกษตรของตนเองบนพื้นที่จำนวน 15 ไร่ และได้ตัดสินใจก้าวเข้าสู่การทำการเกษตรแบบอินทรีย์เต็มตัว ในปี 2557 และขอยื่นแปลงเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ของกรมวิชาการเกษตร
           ในระหว่างการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ได้สมัครเข้ารับการอบรมพัฒนาตนเองเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตร หลังจากผ่านการอบรมจึงเริ่มต้นใช้ปลูกพืชโดยใช้การตลาดนำสินค้า คำนึงถึงความเป็นไปของตลาดสินค้าก่อนตัดสินใจปลูกพืช เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกันในแปลง หลังจากได้ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ 1 ปี 8 เดือน ก็ได้รับมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ในวันที่ 22 มีนาคม 2560 และเกิดสร้างแบรนด์ “สวนสุนทรออร์แกนิกฟาร์ม” เพื่อพัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสวนของตนเองในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นจุดแข็งเรื่องเกษตรอินทรีย์
           สำหรับการวางแผนในการปลูกพืช โดยเน้นตลาดนำการผลิต คือ มองตลาดในระยะไกล วิเคราะห์ตลาดของสินค้าเกษตรนั้นๆ แล้วจึงเลือกปลูกพืชที่สามารถทำการตลาดได้ เช่น ทุเรียน เริ่มต้นมองเห็นตลาดทุเรียนอินทรีย์ เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ได้มูลค่ามากกว่าเดิม ต่อยอดโดยเริ่มต้นคัดแยกทุเรียน เป็นเกรดต่างๆ ส่งทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมเข้าตลาดโมเดรินเทรด ผ่านตลาดใหญ่อย่างท็อป มาร์เก็ต และเลือกทุเรียนที่ตกเกรดที่มีราคาต่ำลงมา มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นทุเรียนฟรีซดราย ทุเรียนอัดเม็ด ฯลฯ
           หลังจากนั้นเห็นว่าเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิต จึงปลูกกาแฟ เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟอินทรีย์ นำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้ ปลูกพืชผักต่างๆ เช่น อะโวคาโด โดยเลือกสารพันธุ์ที่ทนร้อน และเหมาะกับสภาพอากาศ เลือกปลูกกล้วยไข่ และกล้วยหอม เลือกปลูกชมพู่เนื่องจากเป็นพืชที่ออกดอกปีละหลายรอบ ทำให้มีน้ำหวานให้แก่ผึ้งที่เลี้ยงในแปลง โดยมีหลักคิดคือพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด